ชาร์ลี แคมป์เบลล์ จากนิตยสารระดับโลกอย่าง “ไทม์” (TIME) ได้เผยแพร่ประสบการณ์และเนื้อหาการสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐบมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง
แคมป์เบลล์เล่าว่า ผู้ช่วยของนายกฯ ยืนกรานว่าไม่สามารถขึ้นไปสัมภาษณ์ที่ชั้น 2 ของทำเนียบรัฐบาลได้ เพราะมีไว้สำหรับทำงานราชการอย่างเคร่งครัด นักข่าวและแม้แต่แขกผู้มีเกียรติ จะได้รับอนุญาตให้เดินเล่นได้ที่ห้องรับแขกชั้นล่างเท่านั้น
แต่นายกฯ เศรษฐาใช้เวลาไม่นานในการล้มล้างระเบียบดังกล่าว โดยเรียกแคมป์เบลล์ขึ้นไปที่ห้องทำงานของเขาที่ชั้น 2 และนั่งลงเพื่อสนทนากันเป็นเวลา 1 ชั่วโมงโดยไม่มีการจดบันทึก
แคมป์เบลล์ระบุว่า ห้องประชุมเล็ก ๆ ที่นั่งคุยกันนั้น รายล้อมไปด้วยกระดานไวต์บอร์ดที่เต็มไปด้วยวัตถุประสงค์เชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล ศูนย์กลางการบินแห่งชาติ เหมืองแร่โปแตช เทสลา
นับตั้งแต่เศรษฐาดำรงตำแหน่งนายกฯ เขาได้เดินทางไปต่างประเทศมากกว่า 10 ครั้ง เพื่อดึงดูดนักลงทุน และความพยายามของเขากำลังออกดอกออกผล การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาสที่ 4/2566 เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี
ในเดือน พ.ย. เพียงเดือนเดียว เขาดึงดูดการลงทุนขจากแอมะซอน กูกิล และไมโครซอฟต์ มูลค่ารวมกว่า 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.96 แสนล้านบาท) มาได้ และกล่าวว่า “ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง”
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สยามเมืองยิ้มเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอันขมขื่น และกองทัพไทยก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2567 และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ภายใต้ทศวรรษถัดมาของการปกครองกึ่งทหารที่สับสนวุ่นวาย เศรษฐกิจของไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ซบเซาในขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2561 คนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศไทยควบคุมความมั่งคั่งถึง 66.9% ของประเทศ ตามข้อมูลของ Credit Suisse Global Wealth Databook ขณะที่ในสหรัฐฯ ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 26.5% เท่านั้น
ประเทศไทยในช่วงปีเหล่านั้นทำให้เกิดสุญญากาศทางประชาธิปไตยและความผิดพลาดทางการคลัง จนคนหนุ่มสาวหลายพันคนออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้หยุดก้าวก่ายกระบวนการประชาธิปไตย โดยชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์
การเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ต่ำกว่า 2% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีตัวเลขดังกล่าวเป็น 2-3 เท่า
เคราะห์ซ้ำ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และจนตอนนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีเพียง 70% ของจุดสูงสุดที่เคยทำในปี 2562
กาเร็ธ ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียจาก Capital Economics กล่าวว่า “ประเทศไทยล้าหลังอย่างแท้จริงในแง่ของการฟื้นตัวจากโรคระบาด … มันแย่กว่าที่อื่น ๆ ในเอเชีย”
นายกฯ เศรษฐาตรงไปตรงมากับเรื่องนี้ โดยยอมรับว่า ประเทศไทยอยู่ใน “วิกฤตเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นวิกฤตที่ต้องรับมือโดยตรง เขาจึงได้ลดภาษีเชื้อเพลิง ประกาศพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปีสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหา และวางแผนที่จะเปิดตัวโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะมอบเงิน 10,000 บาทให้กับชาวไทยที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนเพื่อกระตุ้นการบริโภค เขายังยกเว้นวีซ่าสำหรับผู้มาเยือนจากจีนและคาซัคสถาน โดยมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ
นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว เศรษฐายังต้องการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ และการเงิน นอกจากนี้ เขายังเตรียมที่จะยกระดับชื่อเสียงของประเทศไทยในเวทีโลก โดยต้อนรับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีน เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
นายเศรษฐาหวังว่า ประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย และเป็นผู้ที่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งกับจีน จะสามารถทำหน้าที่เป็น “สะพาน” และ “พื้นที่ปลอดภัย” ได้ ยกระดับชื่อเสียงของไทยไปในระดับนานาชาติ “ผมอยากเห็นประเทศไทยเปล่งประกาย”
แต่หนทางข้างหน้ายังคงมืดมนอย่างเห็นได้ชัด พรรคเพื่อไทยของเศรษฐาไม่ได้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค. แต่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ตามหลังพรรคก้าวไกล
กระนั้น พรรคก้าวไกลถูกขัดขวางไม่ให้มีอำนาจโดยวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยทหาร แม้ว่าจะได้ที่นั่งในสภานิติบัญญัติมา 151 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่งแล้วก็ตาม จากนั้น พรรคเพื่อไทยได้รวมกลุ่มพันธมิตร 10 เข้าด้วยกันเพื่อให้เศรษฐาได้ตำแหน่งนายกฯ โดยที่วุฒิสภาเห็นชอบ
TIME ระบุว่า เศรษฐากำลังต่อสู้เพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มที่เคยขัดขวางการปฏิรูปครั้งใหญ่ และเมื่อพิจารณาจากภาวะย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยและเส้นทางสู่อำนาจของเขา เขาจึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักที่จะต้องสร้าง “ผลกำไร” ที่แท้จริงและรวดเร็ว
เศรษฐากล่าวว่า “ความกดดันไม่ได้เกิดจากการเป็นรองแชมป์ (ในการเลือกตั้ง) แรงกดดันมาจากความจำเป็นในการแก้ไขความยากจน เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกคน นั่นคือความกดดันที่ผมเผชิญทุกวัน”
แคมป์เบลล์ยังเขียนในเชิงขบขันว่า ชื่อเล่นของเศรษฐาคือ “นิด” แปลว่าตัวเล็กในภาษาไทย ซึ่งดูแปลก ๆ ตรงที่ผู้นำไทยสูงถึง 190 ซม. และมีชื่อเสียงในด้านความกระตือรือร้นและอารมณ์ฉุนเฉียว
เขาเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ไทยที่ติดตั้งห้องนอนในทำเนียบรัฐบาล แทนที่จะต้องเดินทางผ่านถนนหนทางที่ติดขัดในกรุงเทพฯ
บนเตียงมีตุ๊กตารูปเศรษฐาที่เขาได้รับเป็นของขวัญ พร้อมด้วยถุงเท้าฉูดฉาดอันเป็นเครื่องหมายการค้า มุมหนึ่งมีชั้นที่เต็มไปด้วยชุดสูทธุรกิจและชุดทางการ มีอุปกรณ์ออกกำลังกายตรงบริเวณเฉลียง
เศรษฐากล่าวถึงห้องนอนใหม่ว่า “ผมสามารถจัดการประชุมช่วงเช้าและดึกได้ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่ง และผมไม่ต้องฝ่าการจราจรด้วยรถมอเตอร์ไซค์”
ไม่มีเศษกระดาษสักแผ่นวางอยู่บนโต๊ะทำงานของเศรษฐา เขาชอบที่จะเดินไปมาระหว่างทีมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการพูดคุย แต่มักจะพกกระเป๋าเอกสารหนังขาดรุ่งริ่งที่เขาซื้อในเยอรมนีเมื่อ 36 ปีที่แล้ว “ผมคิดว่าครั้งเดียวที่ฉันใช้โต๊ะคือรับสายจาก นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู”
เศรษฐาไม่ใช่นักธุรกิจคนแรกที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองและพยายามสร้างพลวัตขององค์กรในรัฐบาล ซึ่งทุกคนจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่พบว่า ห้องประชุมคณะกรรมการบริษัทและคณะรัฐมนตรี มีความแตกต่างกัน
สำหรับเศรษฐา ช่วงเวลานั้นมาถึงเร็วมาก หลังรับตำแหน่งได้ไม่ถึงเดือน กลุ่มฮามาสก็ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค. 2566 คร่าชีวิตแรงงานไทยไป 39 ราย และจับอีก 32 คนไปเป็นเชลย โดยพยายามเจรจาปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมด จนเหลืออยู่ 8 คนที่ยังไม่ได้กลับมา
จากนั้น การขับเคลื่อนประเทศก็เป็นเป้าหมายหลักของเขา นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เศรษฐายังทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ผ่านงบประมาณระดับชาติ รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็ทำให้เขาต้องปวดหัวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเกรงว่าการแจกเงินสดมูลค่ามหาศาลจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
เศรษฐาบอกว่า “การเป็นซีอีโอของบริษัท คุณรู้ว่าคุณมีอำนาจจำกัด แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ความไร้อำนาจของนายกรัฐมนตรี”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบุคคลสำคัญอีกรายหนึ่งในการเมืองไทย นั่นคือ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพิ่งกลับมาจากการลี้ภัยในวันเดียวกับที่เศรษฐาได้รับการรับรองให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ทักษิณถูกจับกุมที่สนามบินและถูกตัดสินจำคุก 8 ปีในความผิดฐานคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ภายในไม่กี่ชั่วโมง ทักษิณวัย 74 ปีก็ถูกย้ายจากห้องขังไปยังห้องชุดของโรงพยาบาล และได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา
การที่พรรคเพื่อไทยเหมือนจะทำสนธิสัญญากับกองทัพเพื่อวางแผนการกลับมาของทักษิณ สร้างความเดือดดาลให้กับทั้งชาวไทยหัวก้าวหน้าและผู้สนับสนุนดั้งเดิมของพรรค บางคนถึงขั้นเผาหุ่นจำลองเพื่อประท้วงนอกสำนักงานใหญ่ของพรรคเพื่อไทย
แผนปฏิรูปที่ชัดเจน เช่น การยุติการเกณฑ์ทหาร ได้ถูกเก็บเข้าลิ้นชักตั้งแต่นั้นมา สและภาพจำที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐาเป็นเพียงลูกไล่ของทักษิณและกลุ่มมหาอำนาจที่เชื่อมโยงกันเท่านั้น
ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตนักการเมือง เคยกล่าวว่า “เขาเป็นหุ่นเชิด ทักษิณมีรีโมต กดขวา กดซ้าย นายเศรษฐาก็ต้องไปทางนั้น”
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสิทธินั้น TIME ระบุว่า จริงอยู่ ที่รัฐบาลของเศรษฐากำลังผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมในการแต่งงานและสิทธิของ LGBT แต่ก็ยังมีปัญหาสิทธิอื่น ๆ อีกมากมายที่ดูเหมือนจะถดถอย
เศรษฐากำลังล้มเลิกการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงของไทย เพื่อควบคุมการค้ามนุษย์ที่เคยแพร่ระบาดอย่างหนัก
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้อยู่ในวาระสูงสุดของเศรษฐา”
นอกจากนี้ เยาวชนไทยเกือบ 2,000 คนยังคงถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติ หรือกรณีนักข่าวไทย 2 คนที่ถูกจับกุมเพราะสัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวที่พ่นสีสัญลักษณ์และวิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบนกำแพงวัดพระแก้วกรุงเทพฯ
ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 200 รายภายใต้กฎหมาย ม.112 ที่เข้มงวด โดยผู้ที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น หรือเมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ชายคนหนึ่งถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปีเพียงเพราะขายปฏิทินที่มีรูปเป็ดยาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การประท้วง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐาไม่เห็นปัญหาใด ๆ ในเรื่องนี้ “สิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมที่ยุติธรรม สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดี ยังคงมีอยู่” เขากล่าวยืนยัน
ด้านนโยบายต่างประเทศ ในเดือน ต.ค. 2566 เศรษฐาได้พบกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เพื่อชักชวนการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือระนองฝั่งทะเลอันดามัน ไปยังชุมพรฝั่งอ่าวไทย โดยใช้ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งก๊าซ
เมื่อถามถึงความประทับใจที่มีต่อสี เศรษฐาก็หยุดชะงัก “ในฐานะผู้นำระดับโลก เขามีรังสีในตัวเขา ผมคิดว่าเขาต้องการแลกเปลี่ยน ผมคิดว่าเขาไม่ได้ดูจะสร้างปัญหาใด ๆ เขาไม่ได้มองหาสงคราม”
แต่ในกรณีของ วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งเศรษฐาได้พบในเดือน ต.ค. เช่นกัน และเชิญผู้นำรัสเซียรายนี้ให้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แม้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จะออกหมายจับประธานาธิบดีรัสเซียในข้อหาลักพาตัวเด็กชาวยูเครนก็ตาม (ประเทศไทยได้ลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบันในธรรมนูญของ ICC)
สหรัฐฯ ยังตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าวว่า “เราได้ชี้แจงความกังวลของเราต่อรัฐบาลไทย เกี่ยวกับการกระทำและกิจกรรมของปูติน รวมถึงการรุกรานยูเครน” รวมถึงกรณีการเสียชีวิตที่ดูเหมือนจะมีเงื่อนงำของอดีตผู้นำฝ่ายค้าน อเล็กเซ นาวาลนี ด้วย
เศรษฐาไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ “มีหลักฐานว่าปูตินเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ มันเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขา หากเป็นอาชญากรรมจริง ๆ เราไม่ก้าวก่ายอธิปไตยของประเทศอื่น”
สำหรับเศรษฐา นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมากกว่า 1 ล้านคนที่มาเยือนประเทศไทยต่อปีมีความสำคัญเหนือกว่า เขาเสนอให้ผู้ถือหนังสือเดินทางรัสเซียทุกคนสามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าและพำนักได้นานถึง 90 วัน ซึ่งมากกว่าที่ชาวอเมริกันจะทำได้ถึง 3 เท่า
แต่ในขณะที่เศรษฐาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อดึงดูดการลงทุน เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจในไทยถูกครอบงำโดยกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จำนวนหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ค้ารายย่อยถูกสั่งห้ามในประเทศไทยภายใต้กฎหมาย ซึ่งคุ้มครองบริษัทขนาดใหญ่สองแห่งที่ผูกขาดตลาดถึง 90% และเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วที่บริษัทแห่งหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล ได้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินหลักของกรุงเทพฯ เพียงเจ้าเดียว ทำให้เกิดอาณาจักรครอบครัวที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ดันแคน แม็กคาร์โก ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ กล่าวว่า “บริษัทต่างชาติต้องการเข้าสู่ภาคโทรคมนาคม ภาคการค้าปลีก ภาคเครื่องดื่ม แต่ทุกคนรู้ดีว่าภาคส่วนเหล่านี้ถูกครอบครองไปแล้วเป็นส่วนใหญ่”
แม้ว่าแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยให้คำมั่นที่จะลดอำนาจของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เขาได้รับการยืนยันว่าเป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐาก็ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยหัวหน้าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจำนวนหนึ่ง
แต่เศรษฐายืนกรานว่า ยังมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้ามาในส่วนแบ่งการตลาด “ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยกลุ่มบริษัทระดับโลกล้วน ๆ”
เศรษฐามีความสุขมากที่ได้ไปสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ โดยไม่ได้แจ้งล่วงไว้ เพื่อตำหนิพนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่จัดคอนเสิร์ต The Eras Tour แค่ในสิงคโปร์
TIME ระบุว่า ในที่สุด เศรษฐาจะต้องดำเนินการตัดสินใจที่ยากลำบากในการยกระดับสังคม แม้ว่าจะต้องเสียคะแนนจากผู้สนับสนุนเบื้องหลังก็ตาม แต่การปฏิรูปอย่างกล้าหาญคือสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการอย่างยิ่ง
“จากการเป็นซีอีโอของบริษัทไปจนถึงซีอีโอของประเทศ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกมากมาย” เศรษฐากล่าว และเช่นเดียวกับในห้องประชุม อำนาจไม่เคยถูกแบ่งเท่า ๆ กัน
เรียบเรียงจาก TIME
เปิดสถิติ อาร์เซน่อล ทะลุ 8 ทีม ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก สิ้นสุดการรอคอยรอบ 14 ปี คำพูดจาก สล็อต888
"เอฟ นนท์พัฒน์" เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งในวัย 47 ปี
ทีมทนายความยัน ศาลไม่มีการออกหมายเรียก-หมายจับ “บิ๊กโจ๊ก”